ชา เป็นเครื่องดื่มที่คนทั่วโลกดื่มกันมากมายจนแทบจะกลายเป็นกิจวัตร บางคนก็ดื่มชาตอนเช้าแกล้มฮะเก๋า ซาลาเปา ขนมจีบ หรืออาจจะดื่มเป็นชาเย็น มื้อกลางวันแก้ร้อนก็ไม่เลว ส่วนบ่ายแก่ๆ ก็สามารถดื่มชากับคุกกี้ในสไตล์อังกฤษ หรือชาเขียวอ่อนๆ ร้อนๆ ก่อนนอน ก็จะช่วยให้หลับง่ายขึ้น
เรียกได้ว่าเป็นรูปแบบของการดื่มชาที่หลากหลายและสามารถดื่มได้ตั้งแต่เช้าจรดเย็นจนถึงก่อนเข้านอน ด้วยความที่ใบชาหรือชนิดของชานั้นมีหลากหลาย และสามารถปรับเข้ากับเมนูได้หลากหลายชนิด แถมยังจิบได้ตลอดทั้งวัน แต่เพราะความหลากหลายของการดื่มชา ทำให้คนแต่ละชาติแต่ละภาษาต่างมีประเภท วิธีการชงชาและกลวิธี ในการปรุงแต่งรสให้อร่อยเข้ากับความนิยมของคนในชาตินั้นๆ มาดูชา 10 แบบ จากทั่วโลก กันดีกว่า
ชาญี่ปุ่น
ชาที่มีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่น คือ ชาเขียวมัทฉะ ทำจากใบชาสีเขียวจัด เกิดจากการใช้เสื่อไม้ไผ่มุงโรงชา เพื่อลดปริมาณแสงทำให้ต้นชาผลิตคลอโรฟิลด์มากขึ้นเป็นพิเศษและพยายามสังเคราะห์อาหารจากใบชา ซึ่งชาเขียวได้ถูกนำมาบดละเอียดเป็นผงโดยใช้โม่หิน ทำให้รูปทรงของผงมีความพิเศษ และมีกลิ่นหอม ทำให้ชาวเชียวมัทฉะ ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่น พิธีชงชาเรียกว่า Chanoyu เป็นขั้นตอนที่ซับซ้อน ซึ่งชาเขียวมัทฉะ เป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ และช่วยในเรื่องของอารมณ์ได้ดี นักบวชเซนของญี่ปุ่นใช้ชาเขียวเป็นเครื่องดื่มประกอบการนั่งสมาธิด้วย นอกจากนี้ ยังช่วยในการลดน้ำหนัก ปรับค่าความสมดุลย์ของกรด-ด่างและยังดีท็อกซ์ร่างกายไปในตัวด้วย
ชาโมร็อกโก
โมร็อกโกรับวัฒนธรรมการดื่มชามาจากช่วงสงครามไครเมีย ในตอนที่รบกัน พ่อค้าชาชาวอังกฤษที่รับซื้อชาจากจีน ไม่สามารถค้าขายได้ตามปกติ เพราะรัสเซีย อ็อตโตมัน ฝรั่งเศส และประเทศแถบบอลติก ต่างก็วุ่นวายอยู่กับการรบจนลืมทำการค้าขาย ทำให้พ่อค้าชาต้องเร่หาผู้ซื้อรายใหม่ โดยมาจบลงที่ โมร็อกโก แอลจีเรีย ตูนิเซีย แถบแอฟริกาตอนเหนือ หรือที่เรียกว่า The Greater Maghreb ซึ่งมีการรับชามาประยุกต์ จนเกิดวัฒนธรรมการดื่มชาของตัวเอง และการกินชาแบบใหม่ที่เรียกว่า Maghrabi Mint Tea หรือ “Moroccan Tea”
ความแปลกคือ จะใส่ใบ Spearmint (หรือ Peppermint ลงไปผสม กลายเป็น Double Mint Tea) ลงไปในแก้วชา เพื่อเพิ่มกลิ่นของความหอม และรสชาติชาที่แปลกไม่เหมือนใคร ตามธรรมเนียม คนชงชาจะต้องเป็นผู้ชาย และเป็นหัวหน้าครอบครัว โดยจะรินใส่แก้วที่มีใบ Mint ที่เตรียมไว้อย่างน้อย 3 แก้ว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต้อนรับ
ชาปากีสถาน
ชาของปากีสถาน หรือ ชาอินเดีย เรียกกันว่า “Masala chai” หรือแปลว่า “Mixed-spiced tea” เป็นชาผสมเครื่องเทศ ชาแบบปากีสถาน หรือชาอินเดีย ใช้ใบชาดำจากรัฐอัสสัมเป็นหลัก โดยผสมเข้ากับส่วนประกอบเครื่องเทศแบบอินเดียหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น กระวาน จันทน์เทศ และกานพลู โป๊ยกั๊ก เมล็ดผักชีล้อม
ชา Masala Chai กลายเป็นที่รู้จักทั่วโลก ในลักษณะชาดำที่ต้มกับนม ซึ่งชาติตะวันตกนำไปประยุกต์กลายเป็นเมนูชา “Tea Latte” ชาแบบปากีสถานจะต้องมีความหวานของน้ำตาลโตนด และมีความมันเข้มข้นของนมสด ความหอมของเครื่องเทศ คนปากีสถานดื่ม ชาบ่อย โดยใช้ชาแบบถูกๆ สำเร็จรูปหรือที่เรียกว่าชา CTC “Cut-Tear-Curl”
ชาอังกฤษ
ไม่ได้มีวัฒนธรรมพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับชามาก่อน แต่การล่าอาณานิคมทำให้อังกฤษเปิดตัวเองเพื่อรับวัฒนธรรมโบราณของประเทศจากอาณานิคม จนกลายมาเป็นวัฒนธรรมของ “ชายามบ่าย” หรือ Afternoon Tea และเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก โดยเกิดขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 19 ในสังคมชนชั้นสูงและชั้นกลาง คนอังกฤษจะดื่มชาช่วงประมาณ 4 โมงเย็น โดยรินชาที่ต้มแล้วในหม้อลงในแก้ว ก่อนผสมน้ำตาลและนมให้สีของชาเป็น “สีทอง” เวลาดื่มจะทานกับขนมปังหรือ Scone ทาเนยสดหรือแยม ฯลฯ
ชาไต้หวัน
ประเทศเล็กๆอย่างไต้หวัน ได้สร้างสิ่งแปลกใหม่ให้กับการดื่มชา ด้วยการใส่สาคู ต้มน้ำตาล เม็ดโตๆ ลงไปในชา เพื่อเพิ่มทั้งรสชาติ และเพิ่มความน่าสนใจของการทานชา จนแพร่ระบาดและดังไปทั่วโลก ด้วยความแปลกใหม่ที่น่าสนใจและรสชาติเริ่ดๆ ของ “ชานมไข่มุก” ปัจจุบันยังมีแบบร้อนด้วย แต่เดิมเม็ดสาคู หรือ “ไข่มุก” เป็นสีขาว ต่อมามีสีดำเพื่อให้เตะตาผู้บริโภคมากขึ้น
ชาแอฟริกาใต้
ชาของแอฟริกาใต้ มีสีแดง!เรียกว่าชา Rooibos หรือ Bush Tea ทำจากต้น Redbush ซึ่งนักล่าอาณานิคมเคยดื่มชาดำที่นำมาจากแผ่นดินแม่ และได้เห็นชาวพื้นเมืองปีนหน้าผาขึ้นไปตัดใบของพุ่มไม้บนเขา นำมาทุบและตากแห้งทำเป็นเครื่องดื่ม จึงทดลองทำจนกลายเป็นที่ชื่นชอบมาจนถึงปัจจุบัน ชา Rooibos มีสีแดงเป็นธรรมชาติ ไม่นิยมทานกับนมหรือน้ำตาล เพราะมีรสชาติหวานอยู่ในตัว ด้วยความนุ่มและไม่มีคาเฟอีน จึงเหมาะกับการดื่มก่อนนอน เป็นยานอนหลับทางธรรมชาติชั้นดี
ชามาเลเซีย
ชาชื่อดังของมาเลเซีย น่าจะเป็นชาแบบที่คนไทยคุ้นเคยกันดีที่สุด… ชาประจำชาติมาเลเซียเรียกว่า Teh Tarik หรือ “ชาชัก” ปรุงโดยการ “ชัก” ชาหลายๆครั้ง เพื่อเป็นการผสมส่วนผสมในภาชนะชงชา 2 ชิ้น คือ ชาดำกับนมข้นหวานหรือ นมต้มสด ชักไปมาด้วยความชำนาญในอากาศ จนกว่าน้ำชาจะเป็นเนื้อเดียวกัน และมีฟองอากาศลอยอยู่ข้างบน มีลีลาที่ชวนให้เสียวกลัวว่าน้ำชาจะหกใส่คนชงชาและคนดู เป็นการลดอุณหภูมิที่ชงร้อนๆ ของชา เพื่อให้พอดีกับการดื่ม อีกด้วย
ชา Teh Tarik มาเลเซีย นิยมรับประทานตอนเช้า โดยเสิร์ฟพร้อมกับ Roti Canai ซึ่งกลายเป็นอาหารเช้าประจำชาติของมาเลเซียไป ปกติ Teh Tarik จะรับประทานแบบร้อนๆ ไม่เหมือนชาชักแบบเย็น ๆ ของบ้านเรา
ได้รู้จักชาในรูปแบบต่างๆ ในบางวัฒนธรรม ถึงขนาดมีธรรมเนียม บ้างก็มีอุปกรณ์พิเศษ หรือเป็นแค่การดื่มชาได้รสชาติที่ดีที่สุด แต่บางประเทศไม่ใช่แค่เครื่องดื่ม แต่มันคือวิถีชีวิตที่ดีและวิธีการพักผ่อนของเขา